สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (อังกฤษ: King Mongkut's Institute of Technology Ladkrabang; อักษรย่อ: สจล. – KMITL) เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ก่อตั้งด้วยความช่วยเหลือของรัฐบาลญี่ปุ่น (มหาวิทยาลัยโตไก) โดยเน้นการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตั้งอยู่เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ประวัติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ตามพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พ.ศ. 2551 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้การศึกษา การค้นคว้าวิจัย และการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ และ เทคโนโลยีเพื่อความก้าวหน้า ทางอุตสาหกรรม และ เศรษฐกิจของประเทศเดิมที สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พ.ศ. 2514 ด้วยการรวม วิทยาลัยโทรคมนาคมนนทบุรี วิทยาลัยเทคนิคพระนครเหนือ และวิทยาลัยเทคนิคธนบุรี เข้าด้วยกัน โดยแต่ละแห่งมีฐานะเป็นวิทยาเขต วิทยาลัยโทรคมนาคมนนทบุรี เป็นสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าวิทยาเขตนนทบุรี และในปีเดียวกันนั้นได้ย้ายไปที่ อำเภอลาดกระบัง เป็นวิทยาเขตเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ประกอบด้วยพระนาม "พระจอมเกล้า" ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานตามพระบรมนามาภิไธย แห่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีพระบรมราชานุญาต ให้อัญเชิญตรา "พระมหามงกุฎ" มาเป็นสัญลักษณ์แห่งสถาบันฯ ด้วย นับเป็นสิ่งอันศักดิ์สิทธิ์ และเป็นมหามงคลยิ่งส่วนคำว่า "เจ้าคุณทหาร" นั้น มีไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ท่านเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "เจ้าคุณทหาร" ตามที่ ท่านเลี่ยม พรตพิทยพยัต ทายาทของท่านได้แจ้งความประสงค์ไว้ในการบริจาคที่ดิน อันเป็นที่ตั้งของสถาบันฯ ในปัจจุบัน การบริจาคที่ดิน 1,041 ไร่ ให้กระทรวงศึกษาธิการ ในสมัยที่หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เป็นปลัดกระทรวง เพื่อจัดตั้งวิทยาลัยเจ้าคุณทหารเป็นอนุสรณ์แด่ท่านเจ้าคุณทหาร และเพื่อสร้างสถาบันฯ นั้น มี เขียน ขำปัญญา ครูใหญ่คนแรกของโรงเรียนพรตพิทยพยัต เป็นผู้ประสานงาน ลำดับเหตุการณ์ ลานกิจกรรมภายในอาคารเจ้าคุณทหาร คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือที่นิยมเรียกกันทั่วไปว่า "พระจอมเกล้าลาดกระบัง" มีประวัติความเป็นมาและเหตุการณ์สำคัญ ดังนี้ พ.ศ. 2503 - ก่อตั้ง ศูนย์ฝึกโทรคมนาคมนนทบุรี สังกัด กองโรงเรียนพาณิชย์ กรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2507 - ศูนย์ฝึกโทรคมนนทบุรี ได้ยกฐานะเป็น วิทยาลัยโทรคมนาคมนนทบุรี พ.ศ. 2510 - วิทยาลัยโทรคมนาคมนนทบุรี รับนักศึกษาจาก การสอบคัดเลือกร่วมกับ สภาการศึกษาแห่งชาติ วิธีสอบคัดเลือกรวมเพื่อรับนักศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ (การสอบเอนทรานซ์) เป็นครั้งแรก พ.ศ. 2513 - โรงเรียนเกษตรกรรมนครปฐม ได้ย้ายมาดำเนินการที่โรงเรียนเกษตรกรรมเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พระนคร พ.ศ. 2514 - วิทยาลัยโทรคมนาคมนนทบุรี ได้มีสถานะเป็น วิทยาเขตนนทบุรี ของ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า และย้ายที่ตั้งจาก นนทบุรี มาอยู่ ลาดกระบัง พ.ศ. 2515 - วิทยาลัยโทรคมนาคมนนทบุรี ยกฐานะเป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์ สังกัดสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตเจ้าคุณทหารลาดกระบัง - วิทยาลัยวิชาการก่อสร้าง โอนมาสังกัดสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และยกฐานะเป็น คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ พ.ศ. 2517 - โรงเรียนเกษตรกรรมเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้รับการสถาปนาเป็น วิทยาลัยเกษตรกรรมเจ้าคุณทหาร พ.ศ. 2517 - สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ได้โอนสังกัดจากกระทรวงศึกษาธิการมาสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2518 - ก่อสร้างอาคารหอประชุมใหญ่ อาคารอนุสรณ์ อาคารห้องสมุด อาคารปฏิบัติการโทรคมนาคม และอาคารยิมเนเซี่ยม ด้วยความช่วยเหลือของรัฐบาลญี่ปุ่น พ.ศ. 2520 - สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้จัดตั้งคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม และวิทยาศาสตร์ขึ้น เพื่อผลิตบัญฑิตทางด้านครูอาชีวศึกษา สำหรับวิทยาลัยเทคนิคและอาชีวศึกษาต่างๆ และให้การศึกษา การค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2522 - วิทยาลัยเกษตรกรรมเจ้าคุณทหาร ได้โอนจากกระทรวงศึกษาธิการ มาสังกัดสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตเจ้าคุณทหารลาดกระบังและยกฐานะเป็น คณะเทคโนโลยีการเกษตร พ.ศ. 2524 - ได้จัดตั้งสำนักวิจัยและบริการคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2527 - ก่อสร้างศูนย์เรียน "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ" อันประกอบด้วยอาคารบรรยายรวม อาคารเรียนและ ปฏิบัติการ อาคารศูนย์สารสนเทศ อาคารสันทนาการ อาคารสำนักอธิการบดี หอพักนักศึกษา ชาย-หญิง และสระว่ายน้ำ ด้วยความช่วยเหลือของรัฐบาลญี่ปุ่น มูลค่า 480 ล้านบาท และเปิดใช้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2529 พ.ศ. 2528 - สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตเจ้าคุณทหารลาดกระบังได้มีฐานะเป็นมหาวิทยาลัยอิสระ ตามพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พ.ศ. 2528 และมีชื่อเต็มว่า "สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง" หรือเรียกสั้นๆ ว่า "พระจอมเกล้าลาดกระบัง" - ได้จัดตั้งบัณฑิตวิทยาลัย พ.ศ. 2530 - 16 มิถุนายน พ.ศ. 2530 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มาทรงประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ อุทยานพระจอมเกล้า และทรงเปิดงานแสดงทาง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี "พระจอมเกล้าลาดกระบังนิทรรศการปี '3๐" พ.ศ. 2532 - ได้จัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์โดยแยกออกจาก คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2539 - 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539 สถาปนาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ พ.ศ. 2563 - ครบรอบ 60 ปี การสถาปนาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ภายใต้แนวคิด “KMITL GO BEYOND THE LIMIT” สัญลักษณ์ประจำสถาบัน พระมหามงกุฎ ตราประจำมหาวิทยาลัย ดอกแคแสด ดอกไม้ประจำสถาบันฯ พระมหามงกุฎ มีพระบรมราชานุญาต ให้อัญเชิญตรา "พระมหามงกุฎ" มาเป็นสัญลักษณ์แห่งสถาบันฯ ตามนาม "พระจอมเกล้า" ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิ คุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานตามพระบรมนามาภิไธย แห่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดอกไม้ประจำสถาบัน คือ ดอกแคแสด สีประจำสถาบัน คือ สีแสด (ซึ่งเป็นสีประจำรัชกาลที่ 4) อัตลักษณ์สถาบัน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังได้สร้างอัตลักษณ์ประจำสถาบันขึ้นมา เพื่อเป็นแนวปฏิบัติที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันขององค์กรและนักศึกษาภายในสถาบัน โดยมีไฟล์สำหรับดาวน์โหลดอยู่ สำหรับการใช้งานโลโก้และตราสถาบัน ได้กำหนดไว้ 3 รูปแบบด้วยกัน คือ โลโก้หลัก ประกอบไปด้วยตราประจำสถาบันท้างด้านซ้าย โลโก้สถาบันและชื่อสถาบันทางด้านขวาที่มีการตัดคำอย่างสวยงาม มีทั้งรูปแบบของภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โลโก้แนวนอน ประกอบด้วยตราประจำสถาบันทางด้านซ้าย และชื่อของสถาบันทางด้านขวา บรรทัดบนเป็นภาษาไทย และบรรทัดล่างเป็นภาษาอังกฤษ โลโก้ย่อย เป็นโลโก้ที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานในโอกาสพิเศษต่าง ๆ อาทิ โลโก้ KMITL โลโก้ I Love KMITL สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กำหนดใช้ใช้ฟอนต์ของสถาบันในการประกอบการใช้งานต่าง ๆ เพื่อแสดงถึงอัตลักษณ์ของหน่วยงาน โดยฟอนต์ชื่อว่า KMITL GO และ KMITL 2020